อนุสาวรีย์พญาผาบศัตรู
ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพญาผาบ หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกลาง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
ประวัติพระยาปราบสงคราม (พญาผาบ) จากการเล่าขานสืบต่อกันมา สันนิษฐานว่า พญาผาบ น่าจะเป็นไทเขิน (เงี้ยว) หรืออาจเป็นเชื้อเจ้านายสายเหนือ หรือเป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญ โดยได้บวชเรียนอยู่ที่วัดสันป่าสัก ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากนั้นได้อุปสมบท มีฉายาว่า เตจ๊ะภิกขุ ท่านเลื่อมใส มุ่งมั่นเล่าเรียนจนแตกฉาน ทั้งภาษาบาลี ภาษาขอม ภาษาอักขระพื้นเมือง แล้วเล่าเรียนไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถาอาคมเก่งกล้า จนมีผู้คนหนุ่มๆ สมัยนั้นนิยมมาถวายตัวเป็นศิษย์มากมาย
ต่อมาสึกออกมาเป็นฆราวาส จึงมีคนเรียกนามตามฉายาว่า เตจ๊ะ หรือหนานเตจ๊ะ และด้วยความที่มีวิชาอาคมคงกระพัน มีความสามารถในการใช้อาวุธ เรื่องราวโด่งดังไปถึงเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ยุคนั้น คือ พระเจ้ากาวิโลรส มีคำสั่งให้ไปรับราชการ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตำแหน่งแม่ทัพหลวง หรือทหารเอกของเมืองเชียงใหม่ รับใช้ปกครองดูแลบำบัดทุกข์ให้แก่ชาวบ้านชาวเมืองมาตลอด ต่อมาเกิดเรื่องราวไม่สงบทางตอนเหนือตอนบนของเมืองเชียงใหม่ หรือ เขตล้านนาในดินแดนรัฐฉานของพม่า หรือพวกกบฏเงี้ยวก่อกวนอยู่เนืองๆ เจ้าครองนครเมืองเชียงใหม่จึงมอบหมายให้หนานเตจ๊ะแม่ทัพใหญ่ออกไปทำการรบปราบพวกกบฏเงี้ยวและพวกฮ่อจนได้รับชัยชนะกลับมา พระเจ้ากาวิโลรสได้เสนอความดีความชอบไปยังเมืองหลวง หรือ สยาม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาปราบพลมาร หรือพญาปราบสงคราม แต่ผู้คนจะเรียกท่านเป็นสำเนียงท้องถิ่น ภาษาคำเมืองว่า พญาผาบ ปราบฮ่อ นั้นเอง
ต่อมาทางการเมืองสยามจะทำการรวบรวมหัวเมือง แคว้นเขตมารวมกันจะปกครองโดยให้ขึ้นอยู่ในระบบการปกครองตามกฎหมาย ออกกฎระเบียบยกเลิกการปกครองแบบเดิมที่มีเจ้าขุนมูลนาย เจ้านครต่างๆ ให้มาเป็นการปกครองแบบให้มีเสนาหกที่ประกอบด้วย กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง กรมนา ตอนนั้นพญาผาบได้จัดเก็บภาษี ครอบครัวใดมีการซื้อ-ขายกันก่อนเก็บเพียง 5 รูปี แต่เจ้านายที่มีอำนาจคนใหม่กับน้อยวงศ์ และทหารหลวงจัดเก็บครอบครัวละ 50 ถึง 200 รูปี ชาวบ้านที่ไม่สามารถจ่ายภาษีได้ก็ถูกจับไปทรมาน บรรดาญาติๆ เข้ามาร้องเรียนพญาผาบ ผญาผาบได้นำกำลังไปขับไล่ทหารหลวงให้ออกไปจากเขตหมู่บ้านและแคว้นจ้อมทหารที่ถูกเกณฑ์มาดูแลการเก็บภาษีรู้ดีว่าพญาผาบท่านเป็นคนเด็ดเดี่ยวพูดคำไหนคำนั้น จึงกลับไปบอกเรื่องราวให้นายเก็บภาษีฟังยังความ นครเชียงใหม่ขอให้พวกเก็บภาษีลดหย่อนผ่อนปรนกันบ้าง ฝ่ายเจ้าหน้าที่จัดเก็บที่แข็งข้อ เพราะอ้างอำนาจจากส่วนกลางและเจ้านายฝ่ายเหนือที่หลงกลเห็นผิดเป็นชอบ ถึงแม้พญาผาบไปเจรจาถึงสิบครั้งสิบคราก็ตาม เหตุกลับยิ่งเลวร้ายไปเรื่อยๆ มิหนำซ้ำฝ่ายจัดเก็บภาษีได้ส่งสาส์นไปฟ้องกรมราชเลขา ที่สนามหลวงถวายข้อความเท็จทูลว่า พญาผาบ คิดแข็งกระด้าง ทำการกำเริบก่อการกบฏต่อราชบัลลังก์
พญาผาบ ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฏในบัดดล ทางผู้ก่อความเดือดร้อนและเบียดเบียนชาวบ้านได้ขอกำลังไปยังกรุงสยาม พร้อมจังหวัดใกล้เคียง มีทั้งปืนไฟ อาวุธที่ทันสมัยเพื่อมาห้ำหั่นกองทัพพญาผาบ แต่ก็ยังมีเจ้าเมืองฝ่ายเหนืออีกหลายองค์เข้าใจสถานการณ์คอยช่วยเหลือพญาผาบอย่างลับๆ เพราะพญาผาบท่านเป็นบุคคลที่กว้างขวาง มีเหตุมีผลเสียสละเพื่อส่วนรวม ทำนุบำรุงบ้านเมืองมาตลอด คุณความดีของพญาผาบปราบพลมารเป็นที่เลื่องลือ ทำให้ชาวบ้านเกิดความเลื่อมใส และเล่าขานสืบทอดกันต่อมา